พื้นที่บริเวณวัดไชยวัฒนาราม มีคนยืนถ่ายรูปอยู่

พูดถึงอยุธยาก็ต้องนึกถึงความเป็นเมืองเก่า มีโบราณสถาน สถานที่เก่าแก่ทางประวัติศาสตร์ให้ได้เที่ยวชมหลายแห่ง และพอถามถึงวัดดังของจังหวัดนี้ก็เป็นวัดไหนไปไม่ได้เลยนอกจากวัดไชยวัฒนาราม วัดเก่าที่เคยปรากฏชื่ออยู่ในละครดังแห่งยุคอย่างบุพเพสันนิวาส ทำให้เกิดปรากฏการณ์คนมาเที่ยวชมจนแทบล้นวัดมาแล้ว และเพื่อทำความรู้จักวัดแห่งนี้ให้มากขึ้น หรีด ณ วัด จึงสืบค้นข้อมูล ที่มาและความเป็นไป มาให้ทุกคนได้อ่านกัน จะได้รู้ว่า วัดนี้ไม่ได้มีชื่อแค่เพราะเคยปรากฏอยู่ในจอโทรทัศน์เท่านั้น

จุดเริ่มต้นของความศรัทธา

ภาพพระพุทธรูปที่เสียหายหลังเสียกรุงศรีอยุธยา

จากการบันทึก วัดไชยวัฒนาราม หรือวัดชัยวัฒนาราม สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2173 สมัยพระเจ้าปราสาททอง ช่วงอยุธยาตอนปลาย ซึ่งบริเวณนี้เดิมทีพระราชมารดาของพระเจ้าประสาททองเคยอาศัยอยู่ แต่พระองค์ก็สิ้นพระชนม์ไปก่อนที่พระเจ้าปราสาททองจะขึ้นครองราชย์ ทำให้หลังเสวยราชสมบัติ พระองค์จึงสร้างวัดนี้ขึ้นเพื่ออุทิศบุญกุศลให้พระราชมารดา และนักประวัติศาสตร์ยังสันนิษฐานว่าวัดนี้อาจถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์หลังรบชนะกัมพูชา เนื่องจากรูปแบบทางสถาปัตยกรรมในวัดส่วนหนึ่งมีการจำลองมาจากปราสาทนครวัดนั่นเองค่ะ

จากวัดหลวง สู่วัดร้างที่ได้รับการบูรณะ

ก่อนจะเกิดการเสียกรุงครั้งที่ 2 วัดไชยวัฒนารามเคยเป็นวัดหลวงที่บำเพ็ญพระราชกุศลของพระมหากษัตริย์มาแล้วหลายต่อหลายพระองค์ และเป็นที่ถวายพระเพลิงศพพระบรมวงศานุวงศ์เกือบทุกพระองค์มาแล้ว แต่อีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นที่นี่คือ ในปี พ.ศ.2310 วัดไชยวัฒนารามถูกแปลงเป็นค่ายตั้งรับศึก จนกระทั่งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 วัดแห่งนี้ก็ถูกทิ้งร้างเป็นเวลานาน มีโจรเข้ามาตัดเศียรพระพุทธรูป รื้ออิฐพระอุโบสถและกำแพงวัดไปขาย จนวัดเสียหายหลายจุด แต่ในปี พ.ศ.2478 วัดไชยวัฒนารามได้รับประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ กรมศิลปากรจึงเข้ามาช่วยดูแล ดำเนินการบูรณะมาตลอด จนเสร็จสิ้นในปี พ.ศ.2535 และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปีเดียวกัน

ภาพมุมกว้างของวัดไชยวัฒนาราม

สถาปัตยกรรมที่โดดเด่นภายในวัดไชยวัฒนาราม

ถ้านับจากวันที่สร้างมาจนถึงตอนนี้ วัดไชยวัฒนารามก็มีอายุมานานกว่า 390 ปีแล้ว และถึงแม้ว่าจะผ่านทั้งการทำลายและกาลเวลามา แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความโดดเด่นเรื่องสถาปัตยกรรมของที่แห่งนี้ลดลงเลย เพราะถ้าได้ไปเยือนที่นั่นด้วยตัวเอง จะรู้ได้เลยว่าทุกอย่างยังสวยงามไม่เปลี่ยนไปตามกาลเวลาจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็น

    • ปรางค์ประธาน – พระปรางค์ศรีรัตนมหาธาตุ ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีลักษณะเหมือนพระปรางค์สมัยอยุธยาตอนต้น แต่แตกต่างตรงที่ปรางค์ประธานของที่นี่ทำมุขทิศยื่นออกมามากกว่า โดยแต่ละทิศมีทางขึ้นไปมุขด้านบนทุกด้าน สันนิษฐานว่ายอดองค์ปรางค์อาจจะเคยประดิษฐานพระเจดีย์ขนาดเล็ก เพื่อสื่อถึงพระเจดีย์จุฬามณีบนยอดเขาพระสุเมรุ ยอดบนทำเป็นรัดประคดซ้อน 7 ชั้น แต่ละชั้นทำเป็นลายใบขนุน กลีบขนุน และด้านบนสุดเป็นทรงดอกบัวตูม
    • ปรางค์บริวาร – มีทั้งหมด 4 องค์ ลักษณะเป็นอาคารทรงยอดแหลม อยู่รอบระเบียงคด
    • เมรุทิศเมรุราย – ตั้งล้อมรอบพระปรางค์จำนวน 8 องค์ ตัวเมรุเป็นทรงปราสาท ซ้อนกันขึ้นไป 7 ชั้น ผนังภายในมีการเขียนภาพจิตรกรรมรูปใบไม้ ใบกนก ส่วนผนังด้านนอกมีภาพปูนปั้นพุทธประวัติ 12 ภาพประดับอยู่ โดยที่มาของชื่อเมรุนั้นมีแนวคิดมาจากเขาพระสุเมรุ
    • ระเบียงคด – เป็นส่วนที่เชื่อมต่อเมรุทั้ง 4 ทิศเข้าด้วยกัน แต่เดิมมีหลังคาอยู่รอบ และมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยประดิษฐานอยู่ 120 องค์ แต่องค์ที่ยังเหลือพระเศียรอยู่จนถึงตอนนี้มีแค่ 2 องค์เท่านั้น
    • พระอุโบสถ – อยู่ด้านหน้ากำแพงเมรุทิศเมรุราย นอกระเบียงคต แต่ปัจจุบันเหลือแค่ฐาน ด้านข้างมีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง และถูกล้อมรอบไว้ด้วยกำแพงถึง 3 ชั้น

ใครที่อยากสัมผัสบรรยากาศเก่า ๆ ไปชมฝีมือของคนไทยสมัยโบราณ และศึกษาประวัติศาสตร์บ้านเรา วัดไชยวัฒนารามก็เป็นสถานที่ที่เหมาะมาก ๆ ค่ะ

หากต้องการสั่งพวงหรีดจากร้าน หรีด ณ วัด สามารถกดสั่งได้ที่ สั่งพวงหรีด เราพร้อมบริการจัดส่งฟรี ทั่วกรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *