หากพูดถึง “วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร” หรือที่เรียกกันอย่างสั้นๆ ว่า “วัดเทพศิรินทร์” นั้น คนส่วนใหญ่อาจนั่งรถผ่าน หรือคุ้นเคยกับชื่อวัดแห่งนี้เป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะเป็นวัดที่มีชื่อเสียงและมีความสวยงามโดดเด่นทางด้านสถาปัตยกรรมแล้วยังมีโรงเรียนที่มีชื่อเสียงอย่างโรงเรียนเทพศิรินทร์ที่ตั้งอยู่ติดกันอีกด้วยค่ะ วันนี้ หรีด ณ วัด จะมาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของวัดเทพศิรินทร์และสิ่งที่น่าสนใจภายในวัดกันค่ะ   1   “วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร” หรือ “วัดเทพศิรินทร์” เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ที่ตั้งอยู่บนถนนกรุงเกษม เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ใกล้ๆ กับสะพานกษัตริย์ศึกและสถานีรถไฟหัวลำโพง มีเนื้อที่ประมาณ 31 ไร่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอารามขึ้นในปี พ.ศ. 2419 เพื่อทรงเฉลิมพระเกียรติและทรงอุทิศพระราชกุศลถวายแด่ “สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี” พระบรมราชชนนีของพระองค์ และพระราชทานนามชื่อวัดแห่งนี้ว่า “ วัดเทพศิรินทราวาส” โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นเจริญผลพูลสวัสดิ์ (พระองค์เจ้าชมพูนุช) เป็นแม่กองในการก่อสร้าง และในปี พ.ศ. 2439 พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสุสานหลวงไว้ภายในวัด เพื่อใช้เป็นฌาปนสถานหรือสถานที่ถวายพระเพลิงพระศพของเจ้านายและพระบรมวงศานุวงศ์ที่ไม่ได้สร้างพระเมรุฯ ที่ท้องสนามหลวงมาตั้งแต่ในสมัยราชกาลที่ 5 นอกจากนั้นที่สุสานหลวงแห่งนี้ยังใช้เป็นสถานที่ปลงศพของชนทุกชั้นบรรดาศักดิ์อีกด้วยค่ะ นับได้ว่าวัดเทพศิรินทร์แห่งนี้เป็นพระอารามหลวงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เพียงแห่งเดียวที่มีสุสานหลวง เนื่องจากตามปกติแล้วจะไม่มีฌาปนสถานตั้งอยู่ในพระอารามหลวงค่ะ สำหรับการวางแผนผังของวัดเทพศิรินทร์นั้นถือได้ว่าเป็นการวางแปลนที่เหมาะสม คือมีโรงเรียนอยู่ทางทิศตะวันออก ส่วนหน้าวัดและเขตพุทธาวาสตั้งอยู่ตรงกลาง และสุสานตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก เปรียบได้กับชีวิตของคนเราที่เดินตามดวงตะวัน โดยเริ่มจากวัยเด็ก วัยกลางคน และวัยชรา วัยสุดท้ายแห่งชีวิต ซึ่งไปสิ้นสุดที่สุสานค่ะ ภายในวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหารมีสถาปัตยกรรมและสิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ ได้แก่…   2  
  1. พระอุโบสถ สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ถือได้ว่าเป็นพระอุโบสถที่มีขนาดใหญ่และมีสถาปัตยกรรมที่งดงามมากอีกแห่งหนึ่ง ภายนอกพระอุโบสถมีเสาพาไลขนาดใหญ่ทรงกลมล้อมรอบ หลังคามุงกระเบื้องเคลือบสี หน้าบันประดับลวดลายเป็นรูปตราพระเกี้ยว พื้นปูด้วยหินอ่อน ซุ้มประตูหน้าต่างด้านนอกสลักลวดลายปูนปั้นเป็นทรงพระมหามงกุฎกระเบื้องเคลือบ และเมื่อเดินเข้าไปภายในพระอุโบสถ ท่านก็จะตกตะลึงในความงดงาม คือ มีการตกแต่งด้วยลายรดน้ำ พื้นเพดานด้านในทาด้วยชาดและสลักลวดลายเป็นรูปเครื่องราชอิสริยาภรณ์ 5 ตระกูล ซุ้มประตูหน้าต่างด้านในสลักลวดลายเป็นซุ้มเครือไม้ดอกผูกล้อมตราพระเกี้ยวที่อยู่เหนือพานรองสองชั้น โดยมีช้างสามเศียรยืนบนแท่นทูนพานเครื่องสูง มีราชสีห์กับคชสีห์ประกอบเครื่องสูงทั้งสองข้าง
  3

เครดิตภาพ: https://www.facebook.com/ThaiBuddhism/

 
  1. พระประธาน เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถบนฐานชุกชีสูง ตรงกลางปราสาทจตุรมุขสีทองงดงามอร่ามตา พร้อมด้วยพระอัครสาวก 2 องค์ที่นั่งพับเพียบอยู่ในมุขทั้งด้านซ้ายและด้านขวา โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2427
  2. พระนิรันตราย เป็นพระพุทธรูปที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดให้สร้างถวายแก่วัดในธรรมยุตินิกาย ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาไว้ที่วัดแห่งนี้เมื่อปี พ.ศ. 2421 ตามพระราชประสงค์ของพระบรมชนกนาถ ซึ่งประดิษฐานไว้อยู่ตรงกลางบนฐานชุกชีที่ตรงกับพระประธานพอดี
  3. พระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชชนนี เป็นพระพุทธรูปยืนทรงเครื่อง ปางห้ามสมุทร สูง 1.73 เมตร
  4. พระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์ เป็นพระพุทธรูปหล่อ ยืนทรงเครื่อง ปางห้ามพระแก่นจันทน์ สูง 1.50 เมตร
  5. พระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยเชียงแสน เดิมทีนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าเยาวมาลย์นฤมล กรมขุนสวรรคโลกลักษณวดีทรงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตในการบูรณะ แต่เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถแห่งนี้
  4  
  1. พิพิธภัณฑ์พระพุทธศาสนา จัดแสดงอยู่ในอาคาร ร.ศ.109 ที่มีลักษณะอาคารแบบตะวันตก 2 ชั้น ถือได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์พระพุทธศาสนาแห่งแรกและแห่งเดียวของไทยก็ว่าได้ค่ะ ซึ่งไฮไลท์ของที่นี่จะเป็นการจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า ตั้งแต่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน โดยนำเสนอและจัดแสดงในรูปแบบสี่มิติ ด้วยการใช้สื่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ Computer graphic, Video Animation และ Presentation มาผสมผสานเข้าด้วยกันอย่างลงตัว ทำให้เป็นการเปิดมุมมองการเรียนรู้แบบใหม่ๆ นอกจากนั้นที่ชั้นล่างของพิพิธภัณฑ์ยังมีห้องจัดแสดงอยู่ 3 ห้อง คือ ห้องพระราชประวัติ, ห้องพระอุโบสถ และห้องศรีมหาโพธิ์
 
56
 
  1. อนุสรณ์สถาน ตั้งอยู่กลางสนามหญ้าด้านหน้าของพระอุโบสถ จำนวน 2 หลัง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ได้แก่ “จาตุรนตอนุสสารี” ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือ เป็นที่บรรจุพระสรีรังคารของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ และราชสกุลจักรพันธุ์ ส่วนหลังที่อยู่ทางทิศใต้มีชื่อว่า “ภาณุรังษีอนุสสร” เป็นที่บรรจุพระสรีรังคารของสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช และราชสกุลภาณุพันธุ์โดยภายในอนุสรณ์สถานทั้ง 2 หลังนี้มีพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรประดิษฐานอยู่หลังละ 1 องค์
  2. พลับพลาอิศริยาภรณ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2437 เพื่อใช้เป็นที่ตั้งพระศพของพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอิศริยาภรณ์ นับว่าเป็นรายแรกที่มีการจัดพิธีพระราชทานเพลิงศพที่สุสานหลวง ต่อมาได้ใช้เป็นพลับพลาที่ประทับในการเสด็จมาพระราชทานเพลิงศพสืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน
หลังจากทราบเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาและสิ่งที่น่าสนใจภายในวัดเทพศิรินทร์แห่งนี้ ถ้ามีโอกาสเดินหรือนั่งรถผ่านก็อย่าลืมแวะเข้าไปชมความสวยงามของวัดแห่งนี้ได้เลยนะคะ เพราะภายในวัดยังมีสิ่งต่างๆ ที่น่าสนใจอีกมากมายให้ท่านเลือกชมกันค่ะ