การมัดตราสัง (เขียนว่า “ตราสัง” ไม่ใช่ “ตราสังข์”) คือ อีกพิธีกรรมหนึ่งที่สำคัญของพิธีศพของคนไทยชาวพุทธ โดยสัปเหร่อหรือผู้ทำหน้าที่จะนำสายสิญจน์มามัดมือและเท้าของศพไว้พร้อมกับจัดท่าให้ศพอยู่ในท่าที่เหมาะสมสำหรับทำพิธีต่อไป แต่นอกจากจุดประสงค์นั้นแล้ว พิธีมัดตราสังยังมีความเชื่อและปริศนาธรรมเบื้องหลังที่คนโบราณทิ้งเป็นกุศโลบายให้กับคนรุ่นหลังอย่างเราสืบมาอีกด้วย

การมัดตราสังนั้นจะมีความนัยอะไรที่แฝงไว้บ้าง ความเชื่อ คาถา และขั้นตอนต่าง ๆ มีอะไรบ้าง วันนี้ร้านพวงหรีด หรีด ณ วัด ขอมาแบ่งปันเรื่องราวให้กับคุณ

มัดตราสังคืออะไร ?

พิธีมัดตราสังผูกด้าย

ขอบคุณรูปภาพจาก Last Project Photos

การมัดตราสัง หมายถึง การมัดศพหรือผูกศพเป็นเปลาะ ๆ ด้วยเส้นด้ายดิบหรือสายสิญจน์ บ้างเรียกว่า “ตราสัง” เท่านั้น ซึ่งคำว่า “สัง” ใน “มัดตราสัง” สัญนิษฐานว่า มาจากคำว่า “สังขาร” หรือบ้างก็ว่ามาจากคำว่า “(ผี)สาง” ซึ่งไม่ว่าอย่างไรก็หมายถึง การมัด สะกด/ตรา ศพ ไว้ให้อยู่ในท่าที่เหมาะสมนั่นเอง

สำหรับวิธีการมัดตราสังนั้น จะทำเป็น 3 บ่วงรัดศพไว้ที่ 3 ตำแหน่ง ได้แก่ บ่วงมัดที่คอ บ่วงมัดที่มือทั้งสอง และบ่วงมัดตรงข้อเท้าทั้งสอง

สัปเหร่อจะเริ่มมัดตราสังที่คอก่อนแล้วจึงโยงด้ายมากลางลำตัวของศพ จากนั้นทำห่วงเป็นตะกุดเบ็ดผูกหัวแม่มือแล้วรัดมือทั้งสองในท่าพนมมือที่หน้าอก จากนั้นโยงมาทำบ่วงผูกที่เท้าทั้งสองให้ติดกัน มือและเท้าของศพจึงติดกับลำตัวสนิท เพื่อกันไม่ให้ศพเบ่งพองขึ้นจนดันโลงแตกออกมาเมื่อนำศพไปไว้ในโลง

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน บางวัดหรือบางพิธีศพอาจจะไม่มัดตราสังครบทั้ง 3 บ่วงแล้ว เหลือไว้เพียงการมัดมือทั้งสองของศพให้อยู่ในท่าพนมมือเท่านั้น เนื่องจากในปัจจุบัน มีโลงเย็นและมีการฉีดฟอร์มาลินให้กับศพแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมัดตราสังศพให้แน่หนาอย่างแต่ก่อน

ทำไมต้องมีพิธีมัดตราสังศพ

สาเหตุที่ต้องมีการมัดตราสังศพก่อนนำเข้าโลง ก็มีด้วยกัน 2 เรื่องด้วยกัน

  1. เพื่อรักษาสภาพศพ เนื่องจากในสมัยก่อนที่ยังไม่มีการฉีดสารเคมีหรือฟอร์มาลีนในการรักษาสภาพร่างศพ เมื่อผ่านไปหลายวันหลังเสียชีวิต ร่างกายจะเริ่มพองตัวและบวมอืด การมัดตราสังจึงเป็นวิธีทำให้ศพแน่นและไม่พองจนดันทำให้โลงแตกออก โดยจะมัดมือ เท้า และลำตัวให้แนบติดกัน ป้องกันไม่ให้มือเท้าเด้งกระตุกได้ นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อว่าการมัดจะช่วยป้องกันไม่ให้วิญญาณของผู้ตายออกมาหลอกหลอนได้อีกด้วย
  2. เหตุผลด้านประเพณีและความเชื่อทางศาสนา การมัดตราสังและปล่อยปลายเชือกออกมานอกโลงนั้น ก็เพื่อให้พระสงฆ์ทำพิธีบังสุกุลหรือพิธีส่งวิญญาณ ซึ่งเชื่อว่าบุญกุศลจะได้แล่นเข้าไปในโลงหน้าผ่านทางสายเชือกนั้น ก่อนที่จะประกอบพิธีฌาปนกิจตามประเพณีต่อไป

อีกทั้ง การนิมนต์พระสงฆ์จูงหน้าศพในพิธีฌาปนกิจ ก็ยังเป็นการเตือนผู้มีชีวิตอยู่ให้ดำรงชีวิตตามหลักธรรมคำสั่งสอน เพื่อให้มีธรรมะคุณธรรมอยู่ในจิตใจ นำพาแต่ความเจริญก้าวหน้ามาสู่ชีวิต

ขั้นตอนการมัดตราสังและคาถามัดตราสัง

พิธีมัดตราสังจะจัดทำขึ้นหลังจากทำพิธีรดน้ำศพและเตรียมร่างศพเรียบร้อยแล้ว พร้อมที่จะนำร่างเข้าโลงศพและเตรียมทำพิธีต่อไป โดยมีวิธีการมัดตราสัง พร้อมกับคาถามัดตราสัง จะท่องบริกรรมตามขั้นตอนดังนี้:

  1. ใช้สายสิญจน์หรือด้ายดิบขนาดนิ้วก้อย ผูกเป็นห่วงคล้องคอศพ ทำขณะกล่าวคาถา “ปุตฺโต คีวํ” ซึ่งแปลว่า “ลูกคือห่วงผูกคอ”
  2. จากนั้นโยงเชือกลงมาตรงกลางลำตัว ผูกเป็นห่วงตะกรุดเบ็ดที่หัวแม่มือทั้งสองข้าง รวบมือศพให้พนมถือกรวยดอกไม้ธูปเทียนไว้ที่หน้าอก พร้อมท่องคาถา “ธนํ หตฺเถ” ซึ่งแปลว่า “ทรัพย์คือห่วงผูกมือ”
  3. โยงเชือกลงมาผูกเป็นบ่วงรัดหัวแม่เท้าและข้อเท้าทั้งสองข้างให้ติดกัน ขณะนั้นจะกล่าวคาถา “ภริยา ปาเท” หมายถึง “ภริยาคือห่วงผูกเท้า” หรือกล่าวอีกคาถาที่หมายถึง “สามี/คนรักคือบ่วงผูกเท้า”

เมื่อเสร็จพิธีการมัดตราสังแล้ว จะนำศพที่มัดแล้วมาห่อด้วยผ้าขาวผืนใหญ่ โดยขมวดชายผ้าเป็นปมไว้ที่ศีรษะ เพื่อให้สะดวกในการเปิดออกเมื่อต้องล้างหน้าศพด้วยน้ำมะพร้าวก่อนนำไปประกอบพิธีฌาปนกิจต่อไป 

นอกจากนี้ ยังมัดเปลาะด้ายดิบขนาดนิ้วหัวแม่มือรอบลำตัวอีกประมาณ 5 เปลาะ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทน “นิวรณ์ 5 ประการ” หรือสิ่งขวางกั้นจิตตามหลักพุทธศาสนา

เบื้องหลังความหมายที่ลึกซึ้งของการมัดตราสัง

พิธีมัดตราสัง ผูกด้ายกลางลำตัว

ขอบคุณรูปภาพจาก Last Project Photos

การมัดตราสังศพก่อนฝังหรือเผานั้น ไม่ใช่เพียงแค่ขั้นตอนตามประเพณีที่สืบทอดทำกันมาเพียงเท่านั้น แต่ยังสะท้อนคติความเชื่อและปรัชญาชีวิตอันลึกซึ้งของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นการผูกบ่วงเชือก 3 เปลาะ ได้แก่ บ่วงคอ บ่วงมือ และบ่วงเท้า

บ่วงเชือกทั้งสามนั้นแฝงนัยปริศนาธรรม สื่อถึง “สังโยชน์” หรือสิ่งผูกมัดจิตใจ 3 ประการ ที่ทำให้ดวงจิตต้องหมุนเวียนเกิดแก่เจ็บตายในวัฏสงสาร หากต้องการหลุดพ้นจากวังวนแห่งทุกข์ ก็จำเป็นต้องละวางสังโยชน์ทั้ง 3 นี้เสียให้ได้ (ได้แก่ บ่วงลูก บ่วงทรัพย์ และบ่วงภรรยา/สามีหรือคนรัก)

นอกจากนี้ การมัดเปลาะด้ายรอบลำตัวอีก 5 เปลาะ ก็เป็นการเตือนถึง “นิวรณ์ 5 ประการ” ได้แก่ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ (ความขี้เกียจ ท้อแท้) อุทธัจจกุกกุจจะ (ความคิดที่ไม่สงบนิ่ง) และวิจิกิจฉา (ความกังวล สงสัย ไม่แน่นอนใจ) ซึ่งล้วนเป็นอุปสรรคขวางกั้นไม่ให้บรรลุความดีงามและมรรคผลตามหลักธรรม

ความหมายเหล่านี้ช่วยให้เห็นว่า การมัดตราสังไม่ใช่เพียงการเตรียมร่างสำหรับฌาปนกิจเท่านั้น แต่ยังมีจุดมุ่งหมายให้ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ได้สำนึกถึงการการประพฤติทางกาย วาใจ และใจ เพื่อจะได้หลุดพ้นจากวัฏสงสาร และบรรลุธรรมะคือความหลุดพ้นอันเป็นจุดหมายสูงสุดของชีวิต


โดยสรุปแล้ว การมัดตราสังจึงเป็นการสะท้อนมุมมองชีวิตของคนไทยที่ได้รับอิทธิพลจากหลักปรัชญาพุทธธรรมอย่างลึกซึ้ง ซึ่งมุ่งเน้นให้เห็นโทษแห่งการผูกมัดด้วยกิเลสตัณหา และสอนให้เราละวางสังโยชน์ทั้งปวงเพื่อบรรลุสุขอันแท้จริงนิรันดร์

เรื่องราวความเชื่อและกุศโลบายเกี่ยวกับพิธีศพยังมีอีกมากมาย ติดตามบทความอื่น ๆ ของเราได้ที่หน้าบทความนะครับ และถ้าคุณต้องการพวงหรีดหรือบริการจัดดอกไม้หน้างานศพ ขอฝากร้าน หรีด ณ วัด เป็นอีกทางเลือกของคุณครับ 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง:

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *