พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างโรงพยาบาลปอดเหล็ก

(cr pic: Photoontour)

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองราชย์สมบัติมายาวนานถึง 70 ปี 4 เดือน 4 วัน ในช่วงระยะเวลาอันยาวนานนี้ ไม่มีวันไหนเลยที่พระองค์ไม่เคยคิดถึงความเป็นอยู่ของปวงชนชาวไทย ท่านทรงงานหนักในทุกๆ วัน ทรงคิดค้นโครงการมากมายกว่า 3,000 โครงการเพื่อช่วยให้ความเป็นอยู่ของคนไทยดีขึ้น เช่น โครงการฝนหลวง โครงการกังหันน้ำชัยพัฒนา โครงการแกล้งดิน และอื่นๆ อีกมากมาย ที่คนไทยได้รับรู้เกี่ยวกับเรื่องราวพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่าน แต่ 9 เรื่องที่ หรีด ณ วัด นำมาเสนอต่อไปนี้ เป็นพระราชกรณียกิจที่ใครหลายๆคนอาจจะเคยได้อ่านเป็นครั้งแรกก็ได้ค่ะ
พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างโรงพยาบาลปอดเหล็ก

(cr pic: Thailand Logistics )

1. พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างโรงพยาบาลปอดเหล็ก

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง 1 ปีต่อมา ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงขึ้นครองราชย์ แต่ในตอนนั้นประเทศไทยตกอยู่ในสภาวะยากลำบากเนื่องมาจากสงคราม เศรษฐกิจตกต่ำ อีกทั้งยังต้องเผชิญหน้ากับโรคร้ายแรงต่างๆ ได้แก่ วัณโรค โรคเรื้อน โรคโปลิโอ และอหิวาตกโรค ซึ่งในขณะนั้นการแพทย์ของไทยยังไม่เจริญก้าวหน้า โรงพยาบาลหลายแห่งขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์และยารักษาโรค ด้วยสาเหตุนี้เอง พระองค์จึงมุ่งเน้นการปฏิบัติพระราชกรณียกิจไปทางด้านสาธารณสุขก่อนเป็นอันดับแรก ด้วยเหตุผลที่ว่า หากประชาชนสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรงก็ไม่มีกำลังและสติปัญญาไปฟื้นฟูประเทศ

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นจำนวน 500,00 บาทเพื่อสร้างโรงพยาบาลปอดเหล็ก และจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์เพื่อรักษาโรค รวมไปถึงสนับสนุนให้สภากาชาดไทยผลิตวัคซีน BCG ป้องกันวัณโรค จนในที่สุดก็สามารถกำจัดวัณโรคไปจากชาวไทยได้สำเร็จ

ทรงเป่าแซ็กโซโฟน เพื่อหาทุนปราบอหิวาตกโรค

(cr pic: Matichonweekly)

2. ทรงเป่าแซ็กโซโฟนตามคำขอ (ทางวิทยุ) เพื่อหาทุนปราบอหิวาตกโรค

จากการที่โรคร้ายอย่างโรคเรื้อน และอหิวาตกโรคเป็นสาเหตุให้คนไทยเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงทรงก่อตั้ง “กองทุนปราบอหิวาตกโรค” และทรงหาทุนโดยเสด็จพระราชกุศลด้วยการเป่าแซ็กโซโฟนตามคำขอ พระองค์ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนโทรศัพท์มาขอเพลงผ่านวิทยุ อส. ได้ ซึ่งทุนที่ได้จากพระราชกรณียกิจในครั้งนี้ พระองค์ทรงมอบให้สภากาชาดไทยเพื่อนำไปซื้ออุปกรณ์ผลิตวัคซีนรักษาโรค และเครื่องมือวินิจฉัยโรค ในระยะเวลาเพียง 1 ปี 5 เดือนเท่านั้น อหิวาตกโรคก็หยุดระบาดในที่สุด

ฉายภาพยนตร์ส่วนพระองค์เพื่อหาทุนไปบำรุงด้านสาธารณสุข

(cr pic: kapook)

3. ฉายภาพยนตร์ส่วนพระองค์เพื่อหาทุนไปบำรุงด้านสาธารณสุข

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่ได้ทรงให้ความสนพระทัยในเรื่องการถ่ายภาพอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการสร้างภาพยนตร์ด้วย ครั้งหนึ่งพระองค์เคยพระราชทานจัดฉาย ‘ภาพยนตร์ส่วนพระองค์’ เพื่อหารายได้ช่วยเหลือทางการแพทย์ เช่น สร้างตึกอานันทมหิดลที่โรงพยาบาลศิริราช สร้างตึกวินิจฉัยประสาทที่โรงพยาบาลประสาทพญาไท สร้างตึกวชิราลงกรณ์ สภากาชาดไทย และอื่นๆ อีกมากมาย

ทรงคิดค้นทฤษฎีน้ำดีไล่น้ำเสียขึ้น

(cr pic: มูลนิธิชัยพัฒนา)

4. ทฤษฎีน้ำดีไล่น้ำเสียและเลี้ยงปลาบำบัดน้ำเสีย

สมัยก่อนคลองต่างๆ ในกรุงเทพฯ เต็มไปด้วยน้ำเน่าเสีย ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงทรงคิดค้นทฤษฎีน้ำดีไล่น้ำเสียขึ้น โดยใช้หลักการทางธรรมชาติ คือการใช้น้ำดีจากแม่น้ำเจ้าพระยาส่งเข้าไปตามคลองต่างๆ เช่น คลองบางเขน คลองบางซื่อ คลองแสนแสบ คลองเทเวศร์ และคลองบางลำพู เป็นต้น วิธีนี้จะช่วยให้น้ำในลำคลองมีโอกาสไหลหมุนเวียนกันมากขึ้น ช่วยเจือจางน้ำเสีย ทำให้คลองต่างๆ ในกรุงเทพมีสภาพดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

นอกจากนี้พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้ทดลองศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพันธุ์ปลาที่สามารถช่วยในเรื่องของการกำจัดน้ำเสีย พบว่ามีปลาบางชนิด เช่น ปลากระดี่ ปลาสลิดที่ชอบกินสารอินทรีย์ในแหล่งน้ำเสีย ปลาเหล่านี้จะช่วยลดมลภาวะทางน้ำ อีกทั้งยังมีต้นทุนต่ำ ทำให้เหมาะแก่การเลี้ยงในน้ำเสีย

พระราชทานพันธุ์ปลานิลแก่เกษตรกรทั่วประเทศ

(cr pic: We Love Thai King)

5. พระราชทานพันธุ์ปลานิล

ก่อนปีพ.ศ. 2508 ประเทศไทยไม่เคยรู้จักปลานิลมาก่อน แต่เมื่อสมเด็จจักรพรรดิอากิฮิโตะ ที่ในตอนนั้นทรงดำรงพระอิสริยยศมกุฏราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น น้อมเกล้าฯ ถวายพันธุ์ปลาน้ำจืดในตระกูล (Tilapia) จำนวน 50 ตัว แด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงพระราชทานชื่อเป็นภาษาไทยว่า ‘ปลานิล’ มีความหมายว่า สีดำ ซึ่งก็คือสีนิล พระองค์ทรงทดลองเลี้ยงด้วยพระองค์เองในบ่อปลาสวนจิตรลดา เป็นเวลากว่า 5 เดือน เมื่อการเพาะเลี้ยงเป็นไปได้ด้วยดี ปลานิลขยายพันธุ์เพิ่มมากขึ้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงพระราชทานลูกปลานิลขนาด 3-5 เซนติเมตร จำนวน 10,000 ตัวให้แก่อธิบดีกรมประมง เพื่อนำไปเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ที่แผนกทดลอง และสถานีประมงต่างๆ อีกกว่า 15 แห่งทั่วประเทศไทยจากนั้นทรงมีพระราชดำริให้แจกจ่ายไปยังเกษตรกรทั่วประเทศ รวมทั้งสนับสนุนการผสมเทียมสายพันธุ์ปลาหายาก เช่น ปลาบึก เป็นต้น

พระราชดำริให้ดำเนินการศึกษาเรื่องหญ้าแฝกคลุมดิน

(cr pic: technologychaoban)

6. พระราชดำริให้ดำเนินการศึกษาเรื่องหญ้าแฝกคลุมดิน

เนื่องจากบางพื้นที่ในประเทศไทยประสบปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดิน ทำให้เกิดดินถล่ม ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน ด้วยความห่วงใยประชาชน ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงมีพระราชดำริให้จัดทำโครงการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝก โดยให้วิจัยการปลูกหญ้าแฝกที่เหมาะสม เพื่อนำความรู้นี้ส่งต่อไปยังประชาชน สาเหตุที่พระองค์ทรงนำหญ้าแฝกมาศึกษาก็เพราะเวลารากของหญ้าแฝกฝังลงในดิน จะแผ่กระจายเหมือนกำแพง สามารถช่วยชะลอความเร็วของน้ำที่ไหลผ่านหน้าดิน และช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นของดินไว้ ช่วยในการปกป้องหน้าดินไม่ให้พังทลาย

พระองค์ทรงแนะนำให้ปลูกหญ้าแฝกตามพื้นที่ลาดชัน หรือบริเวณเขื่อนเพื่อป้องกันการกัดเซาะของหน้าดิน และป้องกันสารพิษไหลลงแหล่งน้ำ เป็นต้น และจากพระราชกรณียกิจในครั้งนั้น ทำให้สมาคมควบคุมการกัดเซาะผิวดินนานาชาติ (International Erosion Control Association: IECA) ถวายรางวัล The International Erosion Control Association’s International Merit Award แด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างในการนำหญ้าแฝกมาใช้อนุรักษ์ดินและน้ำ

จัดทำสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนและกองทุนนวฤกษ์

cr pic: L’OfficielThailand

7. ทรงดำเนินการจัดทำสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนและกองทุนนวฤกษ์

ด้านการศึกษาของเด็กไทยเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงใส่พระทัยไม่แพ้ด้านอื่นๆ นอกจากทุนการศึกษา เช่น ทุนอานันทมหิดลที่พระองค์ทรงสนับสนุนให้บุคคลไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศโดยไม่มีข้อผูกมัดแล้ว ยังมีพระราชกรณียกิจอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน หนึ่งในนั้นคือ การจัดทำสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ซึ่งสารานุกรมฉบับนี้มีความแตกต่างจากฉบับอื่นๆ คือ เป็นสารานุกรมอเนกประสงค์ที่บรรจุสาระต่างๆ ไว้ครบถึง 4 สาขาวิชา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ระดับ เพื่อให้ผู้ที่สนใจตั้งแต่เยาวชนตลอดจนถึงวัยผู้ใหญ่ได้ค้นหาความรู้ที่เหมาะสมกับตนเอง

นอกจากนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงก่อตั้งกองทุนนวฤกษ์ มูลนิธิช่วยเหลือนักเรียนที่ขาดแคลนในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อให้นักเรียนที่ขาดแคลนได้มีโอกาสเข้ารับการศึกษาในระดับประถมศึกษาไปจนถึงระดับมัธยมศึกษา อีกทั้งยังพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนริเริ่มในการสร้างโรงเรียนตามวัดในชนบท เพื่อให้เด็กที่ขาดแคลนหรือกำพร้าได้มีสถานที่ไว้เรียนหนังสือ

ทรงพระราชนิพนธ์บทเพลงไว้มากถึง 48 เพลง

(cr pic: L Mr.Dmitri Kessel, LIFE 1949)

8. พระราชนิพนธ์บทเพลงทั้งหมด 48 บทเพลง

เป็นที่รู้กันดีว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นพระอัจฉริยะภาพในหลายๆ ด้าน หนึ่งในนั้นคือ พระอัจฉริยะภาพด้านดนตรี พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์บทเพลงไว้มากถึง 48 เพลงด้วยกัน โดยเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกคือ เพลงแสงเทียน ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2498 และทรงบรรเลงเพลงนี้เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2490 นอกจากเพลงแสงเทียนแล้วยังมีเพลงพระราชนิพนธ์อีกมากมายที่แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้แก่ สายฝน ใกล้รุ่ง ชะตาชีวิต ยามเย็น เป็นต้น

พระราชกรณียกิจด้านสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์

(cr pic: สำนักข่าวทีนิวส์)

9. พระราชกรณียกิจด้านสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์

หลังในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินกลับมาประทับที่ประเทศไทยเป็นการถาวร ในปี พ.ศ.2495 พระองค์ทรงตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. ที่พระราชวังสวนดุสิต โดยชื่อ อ.ส. มาจากอักษรย่อของพระที่นั่งอัมพรสถาน ซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้ออกอากาศเป็นครั้งแรก ใช้รหัสสถานีว่า HS 1 AS ต่อมาพระองค์ทรงย้ายสถานีอ.ส.เข้าไปตั้งในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐานในปี พ.ศ. 2500

โดยสถานีวิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิตกลายเป็นคลื่นวิทยุที่ได้รับความนิยมจากผู้ฟังเป็นอย่างมากทั้งในประเทศและต่างประเทศที่รับฟังได้ทางคลื่นสั้น พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขยายกำลังส่งจาก 100 วัตต์ เป็น  1 กิโลวัตต์

ถึงแม้ในหลวงรัชกาลที่ 9 จะเสด็จสวรรคต แต่ทุกพระราชกรณียกิจที่พระองค์ทรงทำเพื่อพสกนิกรชาวไทยจะอยู่คู่ประเทศไทยไปตราบนานเท่านาน และทุกคำสอนของท่านจะอยู่ในหัวใจของพวกเราชาวไทยตลอดไป

ขอบคุณที่มาจาก

https://daily.rabbit.co.th/9-พระราชกรณียกิจ

หนังสือเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 72 พรรษา มหาราชา