วัดเสมียนนารี พระอารามหลวง สถานที่สำคัญในไทย

ถ้าพูดถึงชื่อวัดเสมียนนารี (วัดแคราย) คงไม่มีใครไม่เคยได้ยินชื่อนี้ ถึงแม้ว่าสิ่งที่คนส่วนใหญ่พูดถึงจะเกี่ยวข้องกับเรื่องลึกลับอย่างผี หรือว่าวิญญาณก็ตาม แต่ว่านอกจากเรื่องนี้แล้ว วัดเสมียนนารีถูกจัดให้เป็นอีกหนึ่งวัดที่มีประวัติอันยาวนานกว่า 150 ปี และยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปชื่อดังอีกหลายองค์ด้วย บอกได้เลยว่าใครที่อยากทำความรู้จักวัดแห่งนี้ให้มากขึ้น เช่น ก่อตั้งเมื่อไหร่ ก่อตั้งที่ไหน มีความสำคัญทางพุทธศาสนาอย่างไร ต้องห้ามพลาดข้อมูลที่ หรีด ณ วัด รวบรวมมาไว้ที่นี่ค่ะ

ประวัติวัดเสมียนนารี

จากบันทึกของกรมการศาสนา วัดเสมียนนารีก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2400 จากนั้นจึงได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา หรือพูดง่าย ๆ ก็คือได้รับพระราชทานจากพระเจ้าแผ่นดินในการใช้พื้นที่สร้างอุโบสถในปี พ.ศ. 2420 และผู้ที่ริเริ่มสร้างวัดแห่งนี้ขึ้นมาเป็นจุดศูนย์รวมของพุทธศาสนิกชนคือ ท่านเสมียนขำ สุภาพสตรีในวัง ซึ่งมีตำแหน่งเป็นเสมียนพระคลังข้างที่ โดยในภายหลัง ตำแหน่งนี้ได้ตกทอดไปยังพระธิดาของท่านคือ คุณท้าวภัณฑสารนุรักษ์ (เพิ่มรัตนทัศนีย์) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และเพราะท่านทั้งสองนี้เองที่เป็นคนสร้างวัด ตลอดจนทำนุบำรุงวัดนานเท่าช่วงอายุขัย ทำให้เมื่อทั้งสองจากไปแล้ว วัดแห่งนี้จึงถูกขนานนามว่า “วัดเสมียนนารี” เพื่อเป็นเกียรติแก่ท่านทั้งสองเมื่อปี พ.ศ. 2522

พระพุทธรูปที่ประดิษฐานในวัดเสมียนนารี

อุโบสถ

ที่วัดเสมียนนารีมีอุโบสถอยู่ 2 หลังด้วยกัน คือ อุโบสถหลังเก่า และอุโบสถหลังใหม่ • อุโบสถหลังเก่า – อุโบสถหลังนี้ก่อตั้งมานานกว่า 120 ปี ด้านในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย ได้แก่ หลวงพ่อพุทธสุโขอภิโรจนะ หลวงพ่อพุทธโสธร และหลวงพ่อสังกัจจายน์ นอกจากนี้ใต้โบสถ์ยังมีอุโมงค์ขนาดเล็กให้ลอด โดยมีความเชื่อว่า หากใครได้ลอดอุโมงค์นี้จะมีความสุขความเจริญ รอดพ้นจากภัยอันตรายต่าง ๆ ที่เข้ามาในชีวิต • อุโบสถหลังใหม่ – สร้างด้วยหินอ่อนทั้งหลัง เป็นลักษณะทรงไทย กว้าง 10 เมตร ยาว 30 เมตร ภายในประดิษฐานพระประธานพิมพ์พระพุทธชินราช (จำลอง) พระนามว่า “พระศรีศากยะพุทธวงศ์มุนี” ปิดทองทั้งองค์ ขนาดหน้าตักกว้าง 4 ศอก 9 นิ้ว โดยฝาผนังอุโบสถทางทิศใต้มีภาพจิตรกรรมเกี่ยวกับพุทธประวัติ ตั้งแต่ประสูติ ตรัสรู้ ตลอดจนปรินิพพาน ส่วนด้านหลังอุโบสถมีหลวงพ่อพระร่วงโรจนฤทธิ์ประดิษฐานอยู่   ในปี พ.ศ. 2532 มีการก่อสร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ขึ้นภายในวัดเสมียนนารี โดยมีลักษณะเป็นอาคารทรงไทย สูง 3 ชั้น กว้าง 20 เมตร และยาว 57 เมตร โดยชั้นที่ 1 ใช้สำหรับบำเพ็ญกุศลงานบุญต่าง ๆ ชั้นที่ 2 ใช้เป็นห้องประชุมของคณะสงฆ์ สถานที่สอบธรรมสนามหลวงของเขตบางเขน-จตุจักร และส่วนมุขได้ทำเป็นห้องสมุดประชาชนให้คนในพื้นที่ใกล้เคียงได้เข้ามาหาความรู้ ชั้นที่ 3 ใช้เป็นสำนักเรียนพระปริยัติธรรม ทั้งแผนกธรรมและบาลี ซึ่งปกติแล้ววันอาทิตย์มักจะมีนักเรียน-นักศึกษามาเรียนพุทธมามกะ และด้วยความที่วัดเสมียนนารีมีการพัฒนาวัดอย่างต่อเนื่องนี้เอง ทำให้วัดได้รับการยกย่องจากกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างของกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2531  

ที่พักของพระภิกษุ-สามเณร

ถัดมาที่ที่พักของพระภิกษุและสามเณรกันบ้างค่ะ ที่พักนั้นสร้างเป็นกุฏิทรงไทย 3 ชั้น มี 81 ห้อง รองรับพระสงฆ์และสามเณรที่มาจำพรรษาได้หลายรูป ส่วนด้านล่างเป็นห้องโถงกว้าง ใช้สำหรับทำกิจสงฆ์และบำเพ็ญกุศลเนื่องในโอกาสต่าง ๆ ส่วนด้านหน้าบริเวณที่พักจัดเป็นสวนป่าเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทำให้มีต้นไม้นานาชนิด สงบร่มเย็น เหมาะแก่การสงบจิตใจ  

ศาลาบำเพ็ญกุศล

สำหรับใครที่มองหาวัดเพื่อจัดงานศพ ที่วัดเสมียนนารีมีศาลาสวดศพมากถึง 11 ศาลาเลยทีเดียวค่ะ  

ที่ตั้งวัด

วัดเสมียนนารี (วัดแคราย) ตั้งอยู่เลขที่ 32 หมู่ 2 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร • ทิศเหนือ ติดกับโรงเรียนวัดเสมียนนารี • ทิศใต้ ติดกับถนนประชานิเวศน์ ซึ่งเชื่อมระหว่างถนนประชาชื่นกับถนนวิภาวดีรังสิต • ทิศตะวันออก ติดกับถนนกำแพงเพชร 6 (โรคอลโรด) และทางรถไฟ สายเหนือ-อิสาน • ทิศตะวันตก ติดกับคลองเปรมประชากร รถประจำทางที่ผ่านได้แก่ สาย 29, 52, ปอ 510, และ 29  

ไหว้พระทำบุญเพิ่มกุศลให้ชีวิตที่วัดเสมียนนารี

วัดเสมียนนารีไม่ได้มีแค่ตำนานน่ากลัว แต่ที่วัดนี้ยังมีพระพุทธรูปที่สำคัญ จิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามรอให้เราได้ไปชม ส่วนใครที่เป็นสายบุญทางวัดก็มีกิจกรรมให้ได้ทำกัน ไม่ว่าจะเป็นไหว้พระทำบุญ ไถ่ชีวิตโคกระบือ รับรองว่าไปแล้วได้บุญกลับมาแน่ค่ะ และประวัติของวัดเสมียนนารีก็จบลงเท่านี้ ในบทความหน้าจะเป็นเรื่องราวของวัดนวลจันทร์ สำหรับใครที่สนใจอยากหาข้อมูลเกี่ยวกับวัดนี้เพิ่มเติม สามารถอ่านได้จากบทความของเราเลยค่ะ ขอบคุณข้อมูลวัดจาก dhammathai

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *