ภาพบริเวณด้านข้างของวัดใหญ่ชัยมงคล จ.อยุธยา

ที่มาภาพ: https://www.flickr.com/photos/khem-pravesvuth/6774452425/

ถ้าพูดถึงจังหวัดที่มีโบราณสถานและโบราณวัตถุให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา และเที่ยวชม เชื่อว่าใครหลายคนต้องนึกถึงจังหวัดอยุธยาแน่นอน เพราะที่นี่เคยเป็นแลนด์มาร์คมานานหลายร้อยปี ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีประเทศไทยเลยก็ว่าได้ และสำหรับใครที่ไปเที่ยวอยุธยาก็คงอยากจะไปชมความงามของเมืองเก่า สถาปัตยกรรมเก่าที่ยังคงมีโครงสร้างสมบูรณ์อยู่ ซึ่งแน่นอนว่ามีหลายที่อยู่แล้ว แต่ในบทความนี้เราจะมาพูดถึงวัดใหญ่ชัยมงคล วัดที่ถูกบันทึกไว้ว่าเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะของสมเด็จพระนเรศวรค่ะ

จุดกำเนิดเรื่องราว 600 ปีของวัดใหญ่ชัยมงคล

องค์พระที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดใหญ่ชัยมงคล จ.อยุธยา

ที่มาภาพ: https://www.flickr.com/photos/khem-pravesvuth/6758350401/

ย้อนกลับไปปี พ.ศ. 1900 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทองทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดศพเจ้าแก้วและเจ้าไทซึ่งสิ้นพระชนม์เพราะโรคอหิวาตกโรคขึ้นมาเผา และโปรดให้สถาปนาบริเวณที่เผาศพเป็นพระอารามชื่อว่า วัดป่าแก้ว จากนั้นเป็นต้นมาก็มีคณะสงฆ์จากสำนักรัตนมหาเถระ ประเทศศรีลังกา ซึ่งเป็นที่เคารพของชาวบ้านในสมัยนั้นมาพำนักอยู่ ทำให้มีคนมาบวชเรียนที่นี่เป็นจำนวนมาก พระเจ้าอู่ทองจึงทรงตั้งอธิบดีสงฆ์นิกายนี้เป็นสมเด็จพระวันรัต และแต่งตั้งให้เป็นประธานสงฆ์ วัดแห่งนี้จึงเปลี่ยนชื่อมาเป็น วัดเจ้าพระยาไทยคณะป่าแก้ว ในที่สุด

เรื่องราวเล่าขาน อนุสรณ์แห่งชัยชนะของสมเด็จพระนเรศวร

ภาพถ่ายภายในบริเวณวัดใหญ่ชัยมงคล จ.พระนครศรีอยุธยา

ที่มาภาพ: Manoonp

เนื่องจากวัดแห่งนี้มาอายุมานานกว่า 600 ปี ที่นี่จึงเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ต่าง ๆ มากมาย และหนึ่งในเรื่องที่เล่าขานกันมาคือชัยชนะของสมเด็จพระนเรศวรซึ่งตั้งอยู่ที่วัดแห่งนี้ค่ะ โดยเรื่องที่เล่าต่อกันมานั้นมีอยู่ว่า ครั้งหนึ่งพม่าได้ยกทัพเข้ามาในขอบขัณฑสีมา สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถก็ได้นำทัพออกไปรบ โดยพระองค์ทรงขับช้างไปอยู่กลางวงล้อมข้าศึกเพื่อยิงปืนใส่พระมหาอุปราช มังกะยอชวาและพระคชาธาร ก่อนจะประกาศชวนทำยุทธหัตถี พระมหาอุปราชจึงไสยช้างออกมาทำยุทธหัตถีด้วย ซึ่งตอนนั้นเองที่สมเด็จพระนเรศวรทรงใช้พระแสงของ้าวฟันพระมหาอุปราชจนขาดสะพายแล่ง หลังกลับจากศึกพระองค์ทรงลงโทษประหารชีวิตทหารที่ตามไปไม่ทัน แต่ระหว่างที่รออาญา สมเด็จพระวันรัต และพระสงฆ์ 25 รูปก็ได้ขอพระราชทานอภัยโทษจากสมเด็จพระนเรศวร โดยให้เหตุผลว่าพระองค์เป็นเหมือนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่แวดล้อมด้วยหมู่มารก่อนที่จะตรัสรู้ เป็นการประกาศเกียรติ บารมีความกล้าหาญ และความเก่งกาจของพระองค์ให้ได้รู้กันทั่วแผ่นดิน ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงพระราชทานอภัยโทษแก่ทหาร และโปรดให้สร้างเจดีย์องค์ใหญ่ขึ้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะและความมีน้ำพระทัยของพระองค์ที่มีต่อทหาร โดยพระราชทานนามเจดีย์นี้ว่า เจดีย์ชัยมงคล

จากอดีตสู่ปัจจุบัน ความสวยงามไม่หายไปตามกาลเวลา

พระพุทธรูปภายในวัดใหญ่ชัยมงคล จ.พระนครศรีอยุธยา

ที่มาภาพ: Jidapa Tansutat

ช่วงปีพ.ศ. 2309 พม่าได้ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา โดยยึดวัดป่าแก้วเป็นฐานทัพ และสู้รบกันมาเป็นเวลานานจนปี พ.ศ. 2310 เกิดเหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ทำให้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา วัดแห่งนี้ก็ถูกทิ้งร้างไว้นานถึง 400 ปี จนกระทั่งมีพระภิกษุ สามเณร และแม่ชีกลุ่มหนึ่งมาใช้ที่นี่เป็นสถานปฏิบัติธรรมอยู่ประมาณ 4 ปี จากนั้นพระฉลวย สุธมฺโมจึงไปนิมนต์พระครูภาวนาพิริยคุณ เจ้าอาวาส วัดยม อ.บางบาล ให้มาดูแลวัดต่อมาจนถึงปี พ.ศ. 2536 เกิดการพัฒนาวัดใหญ่ชัยมงคลขึ้นอีกครั้ง นำโดยพระครูพิสุทธิ์บุญสาร คณะพระภิกษุสงฆ์ สามเณร และแม่ชีจนได้รับการยกย่องให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น และสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แห่งที่ ๓

พระนอนที่วัดใหญ่ชัยมงคล

จากประวัติศาสตร์ ความเก่าแก่แต่ยังสวยงามของวัดแห่งนี้ และพระพุทธรูปองค์สำคัญที่อยู่ในวัด ไม่แปลกใจเลยนะคะว่าทำไมทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติต่างก็พากันมาเยี่ยมเยือนที่นี่อยู่บ่อย ๆ ก็ทั้งสวยงามและทรงคุณค่า เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ที่น่าเรียนรู้ ดังนั้นใครที่มีโอกาสมาที่อยุธยาก็ต้องห้ามพลาดจุดแลนด์มาร์คนี้เลยค่ะ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *