ก่อนจะมาเป็นพวงหรีดดอกไม้สด

พวงหรีดดอกไม้สดแสดงความอาลัยต่อผู้ล่วงลับ

รู้หรือไม่? ก่อนจะมีพวงหรีดดอกไม้สดในทุกวันนี้ มนุษย์เรามีพฤติกรรมการวางดอกไม้เพื่อแสดงความอาลัย มายาวนานกว่า 60,000 ปี! ฟังดูแล้วไม่น่าเชื่อเลยใช่ไหมคะ แต่นี่เป็นเรื่องจริงค่ะ และเพราะการวางดอกไม้นี่เองที่ทำให้เกิดวิวัฒนาการมาสู่การมอบพวงหรีดดอกไม้สดให้ผู้ล่วงลับในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน ดังนั้นถ้าอยากรู้ความเป็นมาเป็นไปของการแสดงความอาลัยในรูปแบบนี้ก็ต้องอ่านเรื่องราวที่ หรีด ณ วัด รวบรวมมาให้เลยค่ะ

ย้อนอดีตหาที่มาของพวงหรีดดอกไม้สด

ดร.Ralph Solecki ผู้ค้นพบการใช้ดอกไม้แสดงความอาลัยที่เก่าที่สุดในโลก

ภาพโดย Ralph S. and Rose L. Solecki papers at the National Anthropological Archives ถ้าย้อนกลับไปไกล สมัยยุคกรีก-โรมัน พวงหรีดมักถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของเกียรติยศ โดยจะสวมใส่ไว้บนศีรษะของผู้นำในสมัยนั้น นักกวี นักบุญ หรือบุคคลสำคัญในสังคม ส่วนในการแสดงความอาลัยต่อผู้ล่วงลับนั้นจะใช้วิธีการวางดอกไม้รอบ ๆ ร่างกายของผู้ตาย ซึ่งวิธีนี้ นอกจากจะวางดอกไม้เพื่อแสดงความอาลัย ความเสียใจแล้ว ยังเป็นการใช้ประโยชน์จากกลิ่นของดอกไม้ในการกลบกลิ่นศพด้วย โดยการค้นพบที่เก่าแก่มากที่สุดนั้น ค้นพบโดย ดร.Ralph Solecki ในปีค.ศ.1951 ซึ่งขณะนั้นเขาทำการขุดค้นพบหลุมศพเก่าในถ้ำ Shandiar ทางตอนเหนือของประเทศอิรัก และจากการตรวจสอบดินที่ขุดมาจากหลุมศพก็พบว่ามีละอองเกสรดอกไม้ และชิ้นส่วนของดอกไม้ป่ากว่า 8 ชนิด และคาดว่าน่าจะมีอายุ 62,000 ปีก่อนคริสตกาล ทำให้หลุมศพนี้ถูกยกให้เป็นกิจกรรมทางศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโลกค่ะ

ดอกแบบไหนสื่อความหมายอะไรบ้าง

ดอกเบญจมาศสีขาว ดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์แสดงความอาลัย

ดอกเบญจมาศ

เมื่อพูดถึงดอกไม้ที่ใช้ในการทำพวงหรีดดอกไม้สด ดอกเบญจมาศคือองค์ประกอบหลักที่ทุกคนนึกถึง เพราะมันหมายถึง การเชื่อมถึงบุคคลอันเป็นที่รักซึ่งจากไป สื่อถึงความอาลัย และความโศกเศร้า

ดอกลิลลี่

ในต่างประเทศ ดอกลิลลี่เป็นที่นิยมมากในการไว้อาลัย เนื่องจากความหมายของดอกไม้ชนิดนี้คือการคืนความบริสุทธิ์ให้แก่ดวงวิญญาณที่ล่วงลับ

ดอกกุหลาบ

ดอกกุหลาบขาว มีความหมายเดียวกับดอกลิลลี่ขาว คือความบริสุทธิ์และความไร้เดียงสา และยังรวมไปถึงความเห็นอกเห็นใจ หากนำไปจัดช่อหรือพวงหรีดมักจะใช้แทนสัญลักษณ์ของความสงบด้วยเช่นกันค่ะ

ดอกกล้วยไม้

ในประเทศไทยอาจไม่ค่อยเห็นคนนำดอกกล้วยไม้มาจัดมากนัก แต่ในต่างประเทศมักจะมอบดอกกล้วยไม้สีขาวให้ผู้ล่วงลับ เพื่อบอกกับพวกเขาเป็นครั้งสุดท้ายว่าฉันจะรักคุณเสมอ

ดอกคาร์เนชั่น

นอกจากดอกเบญจมาศขาวที่คนนิยมใช้จัดพวงหรีดดอกไม้สดแล้ว ดอกคาร์เนชั่นขาวก็เป็นที่นิยมไม่แพ้กัน โดยใช้สื่อถึงการปลอมประโลม และการยกย่องชื่นชมต่อผู้ที่ล่วงลับค่ะ

จากดอกไม้สู่พวงหรีด

ภาพถ่ายพวงหรีดดอกไม้สดช่วงปี ค.ศ.1878

ภาพโดย J.S. Lefavour, Salem, Mass., c. 1878.

ในช่วงศตวรรษ 16-19 ชาวคริสเตียนมีการนำกระดาษและริบบิ้นมาตัดเป็นดอกไม้และใบไม้ จัดเป็นพวงหรีดทรงกลม เพื่อเฉลิมฉลองในเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสต์เจ้า แต่ในภายหลังมีการเปลี่ยนมาใช้ดอกไม้สดแทน เพราะว่ามีความสวยงามมากกว่า และธรรมเนียมนี้ก็ส่งต่อมาถึงงานศพด้วย ทำให้นอกจากการวางดอกไม้ในหลุมศพแล้ว ยังมีการวางพวงหรีดดอกไม้สดเพื่อแสดงความอาลัย นอกจากนี้ยังใช้เป็นสัญลักษณ์ในการเปรียบเทียบว่า ดอกไม้มีวันเหี่ยวเฉาเหมือนกับชีวิตของมนุษย์ที่มีการเกิดแก่เจ็บตายนั่นเอง

วัฒนธรรมพวงหรีดกับประเทศไทย

พวงหรีดดอกไม้สดหลายโทนสีจัดวางเรียงกันอย่างเป็นระเบียบ

กว่า 200 ปีเลยทีเดียวกว่าที่วัฒนธรรมการวางพวงหรีดดอกไม้สดเพื่อแสดงความอาลัยจะมาถึงประเทศไทย โดยมีการคาดการณ์ว่าเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นช่วงที่วัฒนธรรมตะวันตกหลายอย่างเข้ามาในประเทศ โดยมีหลักฐานเป็นภาพถ่ายพวงหรีดขนาดเล็กในพระเมรุของสมเด็จพระปอยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา หรือเจ้าจอมมารดาเปี่ยม พระสนมเอกในรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ.2447 และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พวงหรีดดอกไม้สดก็เริ่มแพร่หลายมากขึ้นในหมู่ชนชั้นสูง ก่อนจะกระจายตัวสู่ชนชั้นต่าง ๆ และกลายมาเป็นสัญลักษณ์แทนความรัก ความอาลัยจนถึงปัจจุบัน   ขอบคุณข้อมูลจาก www.interflora.com.au

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *